วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ตั้งวงรินกินเหล้า ถ้าไม่เมาไม่เลิก…ตั้งวงคุยเรื่องเหล้า ถึงเมาก็ไม่เลิก

ตั้งวงรินกินเหล้า ถ้าไม่เมาไม่เลิก…ตั้งวงคุยเรื่องเหล้า ถึงเมาก็ไม่เลิก… ทำไมเมื่อตั้งวงคุยเรื่องเหล้า ถึงเมาแล้วยังไม่เลิกอีกล่ะ อาจจะมีคนสงสัยนะคะ ก็จะเลิกไปได้อย่างไรล่ะค่ะ เพราะเมาที่ว่านะ "เมาน้ำลาย" ทั้งเพ หากกำลังเมา น้ำลายติดพัน อย่าว่าแต่เรื่องสำคัญ…ไม่สำคัญ…เลยนะคะ ต่อให้ฟ้าผ่าแผ่นดิน สะเทือน จรรยาบรรณเราก็ไม่คลาดเคลื่อน ยังคุยต่อไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดค่ะ แปลกใจไหมคะ…ทำไมเขาถึงเรียกเหล้าผสมกันว่า Cocktail อันแปลว่า หางไก่ แม่อบเชยก็แปลกใจ แต่ยังหาคำตอบไม่ได้สักที ใครรู้ที่มาที่ไปขานไข วานบอกหน่อยนะคะ ถือเสียว่าเป็นวิทยาทานแก่แม่อบเชยค่ะ ทีนี้ เรามาดูชื่อของคอกเทลกันค่ะ เก๋ไม่หยอก ไม่น้อยหน้าไปกว่าโหลยาดอง บ้านเรา ที่ได้ยินชื่อแล้วต้องเกาหัวแล้วปิดปากขำ คือจะเริ่มที่พิศวงสงสัยและไป จบลงที่ความตลกขบขันไงคะ เช่น โด่ไม่รู้ล้ม น้องเมียชะเง้อหา อะไรเช่นนี้เป็นต้นค่ะ ส่วนของฝรั่งมังค่าก็มีที่มากันแทบทั้งนั้น คราวที่แล้วเราพูดถึงพระนางแมรี่ ผู้กระหายเลือดไปแล้วนะคะ คราวนี้เรามาว่ากันต่อด้วยชื่ออื่นๆ กันเลยค่ะ Benedictine เป็นชื่อเรียกบรั่นดีและเหล้าที่ทำมาจากสมุนไพรค่ะ ใครเป็นคนทำเดาได้ไหมคะ นักบวชค่ะ พระนักบวชในนิกายเบเนดิคทีนเป็นผู้ กลั่นออกมาเป็นเจ้าแรกเมื่อปี 480-547 โดยตั้งชื่อว่า Benedict of Nursia ค่ะ นักบวชเบเนดิคนี้ไม่ได้แหกคอกมากลั่นบรั่นดี อย่างที่นักบวชบ้านเราชอบทำหรอก นะคะ แต่ว่ากลั่นขึ้นมาเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาค่ะ ศิษย์นักบวชของเบเนดิค นั้นนิยมแต่งกายเป็นสีดำล้วนเช่นเดียวกับเบเนดิค จนต่อมามีคนเรียกนิกายของเขาว่า Black Monk โดยมีศาสนสถานที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ Monte Casino บรั่นดี ที่เขาทดลองกลั่นนั้น ไม่นานนักก็เป็นที่นิยมออกไปอย่างทั่วกัน เพราะนิกายของเขา มุ่งเน้นที่การเข้าหาชาวบ้านและเยาวชน ดังนั้นอะไรก็ตามที่เป็นผลงานของเขา ประชาชนในหมู่บ้านจึงซึมซับได้ง่ายและถ่ายทอดออกไปในวงที่กว้างมากขึ้น ทำให้ Benedictine Brandy เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ Chartreuse อันนี้เป็นการตั้งชื่อตามสถานที่ที่เริ่มทำการขายแห่งแรก ซึ่งเป็นวัดค่ะ และอีกครั้งเช่นกันที่ผู้กลั่นคนแรกคือนักบวชในกาย Carthusian ซึ่งเป็นกลุ่มนักบวชที่สันโดษมาก แม่อบเชยอยากจะเดาไปว่าเพราะท่านสันโดษมาก เลยว่างมาก เลยมีเวลาคิดอะไรใหม่ๆ มากกว่าคนอื่น ก็เกรงว่ากลากจะกินหัว อีกสักรอบเข้าให้น่ะค่ะ เพราะว่าตั้งแต่เริ่มเปิดคอลัมน์มานี่ กล่าวถึงเจ้าถึงนาย พระสงฆ์องค์เจ้าไปไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว กังวลเหมือนกันว่ากรรมจะออนไลน์ ตามมาแบบ real-time เช่นเดียวกับพระนางแมรี่ ทิวดอร์ ค่ะ ทีนี้มาถึงเครื่องดื่มยอดนิยมของวีรบุรุษในดวงใจแม่อบเชย นั่นก็คือ Martini ค่ะ โดยเฉพาะ Dry Martini นั้นเจมส์ บอนด์เขาชอบนักชอบหนาแหละ Dry Martini ก็ผสมขึ้นมาจาก Gin กับ Dry Vermouth ค่ะ ไม่ได้หมายความว่า ผสมจากเวอร์มุธแห้งนะคะ แต่หมายถึงเวอร์มุธที่ไม่หวานค่ะ ส่วนที่มาของชื่อ มาร์ตินี่นั้น บ้างก็ว่ามาจากบาร์เทนเดอร์คนเก่งนาม มาร์ติเนซ แต่บ้างก็ว่า Jerry Thomas เป็นคนเสิร์ฟแก้วแรก แต่แม่อบเชยค่อนข้างจะเอียงเอนไปทางมาร์ติเนซ นะคะ เพราะว่าอย่างน้อยก็จะได้รู้สึกว่า ชื่อและที่มาใกล้เคียงกันสักหน่อย ไม่รู้ว่า จะวิเคราะห์ได้ลำเอียงไปตามปริมาณดีกรีของมาร์ตินี่หรือเปล่านะคะ และรายการค็อกเทลประเภทสุดท้ายนี้ อาจารย์ที่ท่านเชี่ยวชาญแนะนำว่า อย่าไปริสั่งกับบาร์เทนเดอร์หรือบาร์เทนดี้ใด ๆ หากท่านไม่ใช่ขาโจ๋ของนักเรียน ช่างกลเก่า เพราะอาจจะได้เมาก่อนดื่ม แต่เป็นเมาหมัด เมาควัน หรือเมาอะไรอื่นๆ ก็ตามที่รุนแรงต่อสุขภาพอย่างยิ่ง เพราะค็อกเทลชนิดนี้คือ Molotov Cocktail ซึ่งแปลว่า "ระเบิดขวด" ค่ะ ดังนั้นค็อกเทลดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับบาร์ก็ต่อเมื่อ มีผู้ประสงค์จะก่อความวุ่นวายพกเข้าไปเอง ยังดีนะคะ ที่สมัย 2499 อันธพาลครองเมือง ที่มีวีรบุรุษชื่อ แดง ไบเล่ ยังไม่นิยมภาษาต่างด้าวขนาดสมัยนี้ ไม่เช่นนั้น ปุ๊ ระเบิดขวด อาจจะกลายเป็น ปุ๊ โมโตลอฟ ค็อกเทลค่ะ แล้วทีนี้ ความขลังของปุ๊ ระเบิดขวดคงหายไป ใครๆ ได้ยินก็คงยิ้มร่าและบอกว่า " ค็อกเทลเหรอ มาดื่มสักแก้วสิ " เป็น แน่เลยค่ะ แต่บางทีก็ดีนะคะ จะได้คู่กันพอดีกับ แดง ไบเล่ เครื่องดื่มรสส้มแคลิฟอร์เนีย ค่ะ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น…อันเครื่องดองของเมา หากดื่มพอดีพองามอาจจะเป็น เครื่องชูกำลังได้ แต่หากหักโหมกระโจมกลางดื่มกันไม่บันยะบันยังเมื่อไหร่ ระวัง โรคภัยอีกร้อยแปดประการจะถามถึง นะคะ คราวหน้า…เราจะมาว่ากันด้วยคุณ และโทษของมันอีกทีค่ะ….เพราะว่ายังมีอีกยาวเหลือเกิน…

ไม่มีความคิดเห็น: